ทัศนาวัดสุทัศน์ ชมโบสถ์พราหมณ์ ยลสถาปัตยกรรม เรียนทำบุหงารำไป | เสาชิงช้า

คิดจะพัก – เที่ยววันธรรมดา ย่านเสาชิงช้า ใจกลางกรุงเทพมหานคร ทัศนาวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก เยี่ยมยลเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่พระนคร ชมนานาสถาปัตยกรรมร่องรอยวังเจ้านาย และอาคารเก่าหลากรูปแบบ ย่านสามแพร่ง ปิดท้าย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เรียนรู้การทำดอกไม้พุทธบูชาอบแห้ง …สาระ น่ารู้ ชวนอ่าน

เกริ่นก่อนเล่า

สืบเนื่องจากกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร พาแฟนเพจ เดินเที่ยวเรียนรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาย่านเสาชิงช้า – วัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2562 ซึ่งเราเป็นหนึ่งที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมี อ.จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา เป็นผู้นำชม และให้ความรู้ในแบบที่ไม่เบื่อ (สนุก สุข ทุกช่วงเวลา) จึงขอเล่าต่อในสไตล์เรา (สรุปสั้นๆ) เผื่อใครมีเวลา และโอกาสจะได้ไม่พลาดสถานที่สำคัญในย่านนี้ (ตามเส้นทางที่เราเดิน)

ทัศนา…วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก แฝงด้วยนัยของการปกครองยุคต้นแผ่นดิน การออกแบบก่อสร้างวางแผนผังสถาปัตยกรรมด้วยระบบจักรวาลวิทยา ที่เชื่อกันมาแต่ครั้งอดีต… ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางพระนคร

สาระเล็กๆ ก่อนทัศนา

พระนคร สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยศูนย์กลาง 2 ศูนย์ 

  • ศูนย์กลางแรก คือ พระบรมมหาราชวัง เป็นศูนย์รวมของอํานาจทางการเมือง เป็นที่สถิตของความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของราชอาณาจักร และเป็นแหล่งชุมนุมของชนชั้นสูง
  • ศูนย์กลางแห่งที่สอง คือ ย่านวัดสุทัศน์ เป็นศูนย์รวมศาสนสถานสําคัญ เป็นแหล่งชุมนุมชนและย่านการค้าของสามัญชนในพระนคร สมัยนั้นพื้นที่ยังเป็นท้องทุ่งโล่งกว้าง มีผู้คนอยู่อาศัยเบาบาง มีชุมชนต่างชาติเป็นหย่อมๆ เช่น พราหมณ์ จีน เขมร ญวน เป็นต้น

วัดสุทัศน์ มีความหมายต่อพระมหากษัตริย์ ในหลายวาระ  (ต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาเล่า)

  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงปรารถนาจะสร้างพระวิหารให้สูงใหญ่ ให้ผู้คนได้แลเห็นแต่ไกล เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง อยุธยา …ในการอัญเชิญพระโตจากสุโขทัยมายังที่ตั้งใจกลางพระนคร องค์พระถูกบรรทุกลงเรือล่องตามลําน้ำเจ้าพระยา ครั้นเมื่อถึงพระนคร มีการสมโภชและจัดขบวนแห่ไปวัดสุทัศน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในขณะนั้นทรงชราภาพ และกําลังประชวร ทรงเสด็จมาชักพระถึงท่าน้ำ และเข้าร่วมขบวนแห่ด้วยพระองค์เอง
  • ในระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงลงฝีพระหัตถ์แกะสลักบานประตูคู่กลางด้านหน้าพระวิหารด้วยพระองค์เอง
  • การก่อสร้างวัดเสร็จสมบูรณ์ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในช่วงนั้นมีการก่อสร้างขนานใหญ่ แรงงานจำนวนมากเข้ามาในบริเวณนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างหล่อพระ ครั้นสร้างวัดเสร็จ ก็ไม่ได้ย้ายออกไป ยังคงอาศัยอยู่ จึงเกิดชุมชนใหม่ ที่เรียกว่า ชุมชนตีทอง
  • พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “สุทัศนเทพธาราม” (จากเดิมชื่อ วัดมหาสุทธาวาส)

เดินท่องทัศนาภายในวัด

แบบผังเขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์คือการจําลองภูมิจักรวาล ตามคติความเชื่อเมื่อครั้งอดีต รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์ มีความสัมพันธ์อย่างกลมกลืนของพุทธศาสนา พระอินทร์ และพระมหากษัตริย์

พระมหาวิหาร คือศูนย์กลางของจักรวาล ส่วนทางใต้หมายถึงชมพูทวีป คือพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อันหมายถึงพระพุทธเจ้าพร้อมอสิติสาวก หรือสาวกองค์สำคัญ 80 รูป ถัดออกไปก็เป็นกุฏิ สงฆ์ เป็นคณะ เป็นหมวดหมู่ดังกล่าว กับส่วนนอกของชมพูทวีป เรียกว่า ปัจจันตชนบท อันเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ สามเณรทั่วไป

พระมหาวิหาร …ศูนย์กลางของจักรวาล

บริเวณรอบพระวิหาร วางแผนผังอย่างน่าสนใจ (สังเกตุ และตีความ)

  • เจดีย์ศิลปะจีน รายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์แต่ละองค์มีทั้งหมด 6 ช่อง ตีความว่า หมายถึงสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น
  • ม้าโลหะ ที่อยู่ตามมุมตามทิศทั้ง 4 ด้านของพระวิหาร ตีความว่า เป็นม้าที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงขี่ไปออกผนวช ที่มีชื่อว่า กัณฐกะ
  • ศาลา ที่อยู่ทั้ง 4 ทิศ รอบพระวิหาร (ขณะที่เราไปกำลังซ่อมแซม) ตีความว่าคือ ทวีปทั้ง 4

ภายในพระวิหารหลวง จิตรกรรมน่าสนใจ

  • พระศรีศากยมุนี ประดิษฐานเป็นพระประธาน ศิลปะสุโขทัยที่หล่อด้วยสำริด ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อายุกว่า 600 ปี

  • บานประตูคู่กลางด้านหน้าพระวิหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงลงฝีพระหัตถ์แกะสลักด้วยพระองค์เองก่อน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะสลักต่อ (ปัจจุบันโดนไฟไหม้บางส่วนและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร)

  • เสาทั้ง 8 ต้น …ทุกต้นล้วนมีเรื่องราว (จำลองจักรวาล)
    เสาต้นแรก (อยู่ด้านซ้าย หันหน้าเข้าหาพระประธาน) ที่เห็นนี้ พูดถึงกำเนิดประอินทร์ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (บนสวรรค์ ทั้ง 6 ชั้น พระอินทร์อยู่ชั้นที่ 2 ที่เรียกว่า ชั้นดาวดึงส์) เป็นประมุขแห่งเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก มีกายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ มีมเหสี 4 องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา

  • เสาต้นที่ 4 มีภาพเขียนเปรตนอนในท่าราบ  คือภาพปริศนา น่าสนใจ
    สำนวนที่คุ้นชิน เชื่อว่าหลายคนคงได้ยิน “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” แต่ว่าที่เกี่ยวข้องกับวัดสุทัศน์คือ เปรต …และเพื่อความเข้าใจจึงขอเล่าสั้นๆ พร้อมกัน
    – ตำนาน ยักษ์วัดแจ้ง ถ้าไปวัดอรุณจะเห็นยักษ์ใหญ่ 2 ตน เป็นทวาราวบาลคู่กันอยู่หน้าพระอุโบสถ หันหน้าออก รักษาประตู มีนามว่า สหัสเดชะ (กายสีขาว) และ ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) …เล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนพระธรรมให้กับยักษ์ใหญ่ที่ดูน่ากลัว ได้ฟังและเข้าใจ จึงได้กลายมาเผู้ปกป้องคุ้มครอง ปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา 
    – ตำนาน แร้งวัดสะเกศ เล่าว่า สมัยก่อน การสร้างเมืองจะต้องมีกำแพงล้อมรอบ  และทำประตูเข้า-ออกในแต่ละทิศของเมือง พร้อมลงคาถาอาคมไว้ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในตัวเมืองหันหน้าตรงไปยังช่องประตู แต่ละทิศ …สมัยนั้น ในเขตพระนคร ห้ามทำเมธุเผาศพ และถือธรรมเนียมว่า หากมีชาวบ้านเสียชีวิตในกำแพงเมือง จะต้องนำศพออกไปเผาด้านนอกกำแพง และทางออกที่จะนำศพออกไปคือประตูที่อยู่ทางวัดสระเกศ …ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดโรคห่าระบาด มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ศพจึงถูกลำเลียงออกนอกเขตพระนครทางประตูนี้ (ประตูผี) …ศพนับหมื่นเผาไม่ทันจึงเริ่มเน่า ฝูงแร้งตัวใหญ่ลงมาจิกกินเป็นอาหาร
    – ตำนาน เปรตวัดสุทัศน์  สมัยก่อน วัดสุทัศน์ อยู่ในพื้นที่เปลี่ยวมาก แม้ว่าจะตั้งอยู่กลางเมือง เวลากลางคืนไม่ค่อยมีคนเดินผ่านไปมา บางทีคนเดินผ่านมาก็เห็นเสาชิงช้าตะคุ่มๆ ก็คิดว่าเปรตมาโยกเสาชิงช้าเล่น มีเรื่องเล่าว่า คนที่เห็นเปรต มาเล่าให้สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว) ฟัง มีเรื่องเล่าว่า ท่านก็ยังไปคุยกับเปรตว่า อย่ามาปรากฏตัวบ่อยนัก คนเขากลัว? …ภาพวาดบนเสาที่ 4 นี้ เป็นเปรตในท่านอนราบ ที่ยังมีชีวิต แต่ผอมมาก ไม่มีแรง (ยืนไม่ไหว) แล้วพระก็มาโปรด ? …(เปรต คือคนที่ทำบาปกรรมไว้มาก ตายไป จึงเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรม ปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบลาน ปรากฏตัวเวลากลางคืน)

  • เสาต้นที่ 8 ด้านที่มีลักษณะเป็นวงกลม แทนทวีปทั้ง 4 คือ “อุตตรกุรทวีป” อยู่ทิศเหนือ “อปรโคยานทวีป” อยู่ทิศตะวันตก “ปุพวิเทหทวีป” อยู่ทิศตะวันออก และ “ชมพูทวีป” อยู่ทิศใต้

  • ประติมากรรมจำลองเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่เก่า และหาดูได้ยากมาก ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี เป็นเรื่องราวการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า
    – ด้านบน เป็น เหตุการณ์ที่พระองค์ทรงแสดงธรรม โดยมีเหล่าเทวดาขนาบข้าง
    – ด้านล่าง เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรมานเหล่าเดียรถีย์ (นักบวชนอกศาสนา) ที่เรียกกว่า การแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือการการแสดงปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ ที่ใต้ต้นมะม่วงที่เกิดจากเมล็ดมะม่วงที่พระองค์ฝั่งดินไว้ แล้วเกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่ มีกิ่งยืนออกไปข้างละ 10 โยชน์ แล้วพระองค์ก็เนรมิตกายขึ้นมาเป็นรูปสมมติ ไม่ว่าจะพระองค์ทำท่าไหน รูปสมมติก็ทำท่าตาม แล้วพระองค์ก็เหาะขึ้นไปบันดาลให้เกิดท่อน้ำท่อไฟ …

  • รูปหล่อสำริดของปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า ตอนที่พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา…ในท่านั่งเมินเฉย ไม่สนใจในพระพุทธเจ้า …ชุดนี้หล่อในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นของแท้ทั้งหมด (ส่วนที่อยู่ด้านนอกเป็นของจำลอง)

  • จิตรกรรม ฝาฝนัง ซุ้มประตู หน้าต่าง ภายในวิหารหลวงแห่งนี้ เป็นการเขียนภาพอดีตของพระพุทธเจ้า ตามคติความเชื่อในอดีตที่ว่าพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด 28 พระองค์ ภาพที่เขียนในวิหารจะเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ ส่วนอีก 1 พระองค์ เขียนไว้ในพระอุโบสถ …

ชม พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในพระวิหารคด (พระระเบียงคด)

หลังจากชมภายในพระวิหารแล้ว พวกเราก็เดินไปทางด้านขวา (หันหน้าออกไปทางเสาชิงเช้า) ผ่าน พระระเบียงคด ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ก่อนไป สัตตมหาสถาน

ถัดจากพระระเบียงคด เข้าสู่ เขตสัตตมหาสถาน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกระเบียงคด เพื่อชม เจติยสถาน ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสวยวิมุติสุขแห่งพระพุทธองค์

สัตตมหาสถาน

การจำลองสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงย้ายที่ประทับภายหลังการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งอยู่บริเวณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ อยู่ด้านขวา ถัดจาก สัตตมหาสถาน เดินผ่านซุ้มประตูสู่ภายในพระอุโบสถเข้าไปชมนานาศิลปกรรมอันงดงามที่สร้างขึ้นจากพระราชศรัทธาในพระศาสนาของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานปางมารวิชัยที่หล่อโลหะทั้งองค์ เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดาที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร สร้างด้วยปูนปั้นลงสีนั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์ 

บริเวณโดยรอบพระอุโบสถมีอะไรน่าสนใจ

  • ซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว

  • เกยโปรยทาน ที่อยู่บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย เป็นที่ประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี …การโปรยทานสมัยก่อนจะนำลูกมะนาวมาผ่าแล้วใส่เงินไว้ข้างใน เวลาโปรยลงไปจะได้ไม่เจ็บตัว

  • ช่องสำหรับวางตะคันไว้จุดประทีป อยู่โดยรอบพระอุโบสถ เพื่อแสงสว่างในเวลากลางคืน

  • ซุ้มประตูน่าสนใจ เป็นประติมากรรมผสมผสาน ไทย ฝรั่ง …ยอดบนเป็นทรงมงกุฎแบบไทย ลาดลายที่เสาเป็นแบบฝรั่ง ลายใบอะแคนทัส (ใบหยักๆ คล้ายผักชีฝรั่ง) เสาเป็นลายซ่อนล่องที่ใส่ลายฝรั่งเข้าไปอย่างลงตัว ..มีทั้งสิ้น 8 ซุ้ม ตั้งอยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ

เข้าสู่เขตสังฆาวาส …ชม ศาลาการเปรียญ

นอกเขตพุทธาวาสทางใต้เป็นเขตสังฆาวาส อันเป็นที่ตั้งของหมู่กุฏิสงฆ์ศาลาการเปรียญ หอไตร และหอระฆัง 

ก่อนเข้าชมภายในศาลาการเปรียญ ผ่านหอระฆัง ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับศาลาการเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปทรง 8 เหลี่ยม ช่วงมุมเหลี่ยมทำเป็นเสาแนบติดผนัง เจาะผนังเป็นช่องวงโค้ง หลังคาโดม

ศาลาการเปรียญ สร้างในสมัยราชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทยโบราณ มีหลังคา 2 ชั้น ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธเสฏฐมุนี พระประธานปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ที่อยู่: 146 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

การเดินทาง : 

  • รถยนต์ส่วนตัว ..จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ …ใช้ถนนราชวิถี ไปทางถนนสวรรคโลก มุ่งไป แขวงสวนจิตรลดา (ประมาณ 1.7 กม.) …จากนั้นเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ ถนนสวรรคโลก (ประมาณ 1.6 กม.) …เดินทางต่อไปบนถนนหลานหลวง มุ่งไป แขวงวัดบวรนิเวศ (ประมาณ 2.0 กม.) …เดินทางต่อไปบน ถนนดินสอ ขับไปทางถนนบำรุงเมือง มุ่งไปแขวง เสาชิงช้า…จุดหมาย วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
  • รถประจำทาง สาย 10, 12, 35, 42 …รถปรับอากาศ สาย ปอ.12

เยี่ยมยล…เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ หรือ โบสถ์พราหมณ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีของศาสนาพราหมณ์ เช่น พิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย พิธีตรีปวาย และพิธีโกนจุก

เทวสถานประกอบด้วย อาคารก่ออิฐถือปูนทางไทย 3 หลัง คือ

  • อาคารด้านซ้าย คือ เทวถานพระอิศวร ภายในมี เทวรูปพระอิศวร ประทับยืนตั้งเป็นประธานอยู่กลางแท่น ส่วนแท่นที่ลดต่ำลงมา ประดิษฐานเทวรูปประทับนั่งของพระอุมาเทวี พระพรหม และพระอิศวร และมีรูปปั้นโคนนทิ กระหนาบ 2 ข้างของแท่น
  • อาคารหลังกลาง คือ เทวสถานพระมหาวิฆเณศวร (พระคเณศ) 
  • อาคารด้านขวา คือ เทวสถานพระนารายณ์
  • ด้านหน้าเทวสถานทั้ง 3 มีซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน เทวรูป พระพรหม
  • พระศิวลึงค์ ตั้งอยู่ระหว่างอาคารด้านซ้าย กับ อาคารด้านกลาง

พระศิวลึงค์

โบสถ์พราหมณ์ ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่พระนครที่เป็นที่นับถือศรัทธาของศาสนิกชนอย่างไม่เสื่อมคลายนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน …สักการะเทวรูปอันสง่างาม แต่ห้ามถ่ายรูปภายในอาคาร

ลำดับในการเข้าไปสักการะ …คติความเชื่อ
1. พระพิฆเนศวร : เป็นเทพแห่งความสำาเร็จ เชื่อว่า หากทำการสิ่งใด ให้สักการะบูชา ปัญหาทั้งปวงจะผ่านพ้นไปได้
2. พระพรหม : เป็นเทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง เชื่อว่า หากสักการะบูชา พระพรหมจะบันดาลให้มีสติปัญญา สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และมีความสุข
3. พระนารายณ์ : เป็นเทพผู้รักษาคุ้มครองโลก เชื่อว่า หากมีความร้อนใด พระนารายณ์จะบรรเทาความเดือดร้อนให้คืนกลับมาสู่ความสงบสุข
4. พระศิวลึงค์ : เป็นสัญลักษณ์แทนพลังแห่งการก่อเกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลกของพระศิวะ มีความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (ในการเพาะปลูก) เพื่อความเป็นศิริมงคลและโชคดี
5. พระอิศวร (พระศิวะ) : เป็นเทพผู้ทำลายและสร้างโลก เชื่อว่า เป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ต่างๆ หากบวงสรวงบูชา พระศิวะก็จะประทานพรให้ผ่านพ้นภัยทั้งปวง

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
ที่อยู่: 268 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
เวลาเปิดปิด 09:00 – 18:00 น.

เรื่องราวของ 2 สถานที่ในภาคเช้า ความรู้ที่ได้ ความประทับใจที่พบเห็นและสัมผัส บอกได้เลยว่า ไม่ผิดหวัง ยังมีพลังที่่จะเที่ยวได้ในภายบ่าย แต่ก่อนไปต่อนั้น มื้อกลางวันสำคัญ เดินผ่านร้านอร่อยทั้งคาวและหวาน ฝั่งตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ล้วนขึ้นชื่อ ...

ร้านอาหารนันฟ้า คือจุดหมายมื้อเที่ยง

ร้านอาหารนันฟ้า ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นร้านเก่าแก่ ย่านถนนดินสอ – เสาชิงช้า ขายข้าวหน้าหมูกรอบ ข้าวหน้าเป็ดย่าง ข้าวหน้าหมูแดง ข้าวขาหมู บะหมี่หมูแดงหมูกรอบ บะหมี่เป็ด ราดหน้า หมูสะเต๊ะ และอาหารตามสั่ง …เมนูหลัก สูตรเด็ด คือ เป็ดย่างอบน้ำ …รสชาติอร่อย​ ราคาไม่แพง​

 

ร้านอาหารนันฟ้า
ที่อยู่: 164 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
เวลาเปิดปิด: 07:00–20:00 น. ทุกวัน

หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้ว่าเดินทอดน่องท่องชมสถาปัตยกรรมร่องรอยวังเจ้านาย พระราชโอสถในรัชกาลที่ 4 และชมอาคารเก่า ในย่านวังสามแพร่ง ซึ่งเดินไปไม่ไกล ในระหว่างทางผ่านอาคารเก่าหลากรูปแบบ

บ้านขนมปังขิง

บ้านขนมปังขิง บ้านไม้เก่าแก่ในซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ เรือนไทย สไตล์ฝรั่ง ร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ อายุกว่าร้อยปี มีชายคาติดลูกไม้ฉลุ ลวดลายที่สวยงามละเอียดอ่อน คล้ายกับ “ขนมปังขิง” ซึ่งเป็นคุกกี้ที่ชาวยุโรปนิยมทานในเทศกาลคริสต์มาส …บ้านลักษณะนี้ ได้รับอิทธิพลมาจาก Gingerbread house ที่แพร่หลายในรัชกาลที่ 5 หลังเสด็จกลับจากยุโรป ลวดลายมีลักษณะเหมือนหยดน้ำ ซึ่งเป็นลายรุ่นเก่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่างไม้มีฝีมือเชี่ยวชาญขึ้น ก็เพิ่มลวดลายฉลุ หยิกหยัก (คล้ายแง่งขิง) จึงเรียกว่า ขนมปังขิง

บ้านขนมปังขิง
ที่อยู่: 47 ถนน ดินสอ แขวง เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

ชมสถาปัตยกรรม ย่านสามแพร่ง

ย่านสามแพร่ง ตั้งอยู่ที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในอดีตเคยเป็นวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งประกอบด้วย แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนารา และแพร่งภูธร

แพร่งสรรพสาตร์

  •  แพร่งสรรพศาสตร์ เดิมเป็น วังสรรพสาตรศุภกิจ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังวังสรรพสาตรศุภกิจได้ถูกไฟไหม้เสียหายจนหมด ปัจจุบันคงเหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่า สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก มีจุดเด่นอยู่ที่การประดับหน้าบันด้วยประติมากรรมรูปเทพธิดา โดดเด่นเป็นสง่า ให้คนรุ่นหลังได้ชม …สวยงามใจกลางพระนคร

  • เดินผ่านซุ้มประตูวังไปไม่ไกล ผ่านร้านอาหารคาวหวานหลายร้าน ก่อนถึง บ้านเก่าโบราณ อยู่ทางด้านขวา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 สังเกตุได้จากลวดลายฉลุ (ทำฉลุไว้กรองแสงอันแรงจ้า) ซึ่งนิยมทำจั่วที่บนบ้าน และมีเสาสำหรับไว้ติดธง (ที่เรียกว่าเรือนสรไน) สมัยนั้น ฝรั่งที่เข้ามาทำงานในสยาม มีการเอาธงแขวนไว้ เพื่อบ่งบอกตัวตนว่าเป็นใคร มาจากไหน ส่วนหน้าต่างมีบานเกร็ด (ไว้กันแมลง) จะถูกปิดไว้เมื่ออากาศหนาว และถ้าอากาศร้อนจัด จะเปิดหน้าต่างออก 2 บาน แต่ถ้าฝนตก จะดันออกโดยใช้ไม้ค้ำ เรียกว่า บานกระทุ้ง เป็นศิลปะที่เคยมีมาก่อนในยุโรป (ตอนใต้) …มีการต่อชายคาออกมาทุกด้าน เพื่อกันฝนสาด (บ้านเก่าหลายบ้านมีทางเดินหน้าห้องกว้าง จะเปิดพื้นที่ไว้ใช้สอยอยู่ตรงกลาง มีทางเดินรอบได้ เพื่อไม่ให้ฝนสาด บางบ้านมีเฉลียงเป็นชานพักให้นั่งได้ ทั้งด้านบน และด้านล่าง)

แพร่งนารา

  • แพร่งนารา เดิมคือ วังวรวรรณ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณ : พระบิดาแห่งละครการร้อง กวีและนักประพันธ์ ที่มีงานพระนิพนธ์ และพระนิพนธ์แปลนับร้อยเรื่อง เช่น พระลอ พันท้ายนรสิงห์ ไกรทอง อีนากพระโขนง และบทละครร้อง สาวเครือฟ้า เป็นต้น) วังแห่งนี้ต่อมาถูกปรับปรุงเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา และในปัจจุบัน อาคารส่วนหนึ่งใช้เป็นสำนักงานทนายความตะละภัฏ ส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้งาน

  • ย่านนี้บ้านเรือนยังคงสถาปัตยกรรมเก่า เป็นแหล่งรวมร้านอาหารคาวหวานมากมาย ส่วนใหญ่เป็นขนมไทย …ผ่านร้านลูกชิ้นหมูแพร่งนารา ที่ล่ำลือว่า ลูกสาวสวย แต่วันที่ไป ไม่มีคนสวยมาขาย อาจเป็นเพราะผ่านวัย และยุคสมัยไปแล้วละมัง ?

แพร่งภูธร

  • แพร่งภูธร เดิมคือ วังสะพานช้างโรงสี บริเวณนี้เรียกว่า วังเหนือ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นวังของกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 4 ภายหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อเพื่อสร้างเป็นตึกและตัดเป็นถนนแพร่งภูธร ส่วนบริเวณที่ตั้งตัวตำหนัก ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง สถานีอนามัยสุขุมาล …ตึกแถวของ แพร่งภูธร มีหน้าต่างประดับด้วยไม้ฉลุลาย ซุ้มประตูรูปโค้งเหนือช่องลม ปัจจุบันมีการปรับปรุงสถานภูมิทัศน์ มีลานแพร่งภูธร สำหรับใช้จัดกิจกรรมฟื้นฟูอดีต เป็นแหล่งอาหารการกินที่มีชื่อเสียง …มีร้านเด็ด ร้านอร่อยให้เลือกหลายร้าน ทั้งอาหารคาว และหวาน ราคาไม่แพง

ชิม ไอศครีมที่ร้านนัฐพร

ร้านนัฐพรไอศครีม ตั้งอยู่บริเวณแพร่งภูธร มีไอศครีมหลายรสชาติ ราคาลูกละ 30 – 40 บาท เติมเครื่องไม่เกิน 3 อย่าง รสชาติที่เราชิมคือมะพร้าวอ่อน เติมเครื่อง ข้าวเหนียว ข้าวโพอ ลูกชิด …รสชาติอร่อย สัมผัสได้ถึงเนื้อมะพร้าวอ่อน หวานมัน เครื่องเคียงเพิ่มรสชาติความอร่อยอย่างลงตัว …รสชาติถูกใจ สไตล์เรา

นัฐพรไอศครีมกระทิสด
ที่อยู่: ถนนแพร่งภูธร แขวง ศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์: 089-826-5752
เวลาเปิดปิด : 09:00–17:00 น. วันอาทิตย์ปิดทำการ

เดินออกจากร้านไอศครีม ข้ามถนนบำรุงเมือง ไปฝั่งตรงข้าม แล้วเลี้ยวไปทางซ้าย เดินต่อไปตามฟุตบาทจนถึงไฟแดง แล้วเลี้ยวขวา เดินไปอีกไม่ไกลก็ถึงวัดราชบพิธ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่มหาสีมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ จึงได้นามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แปลว่าวัดซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างและเป็นวัดซึ่งมีมหาสีมาตั้งอยู่ การตั้งมหาสีมาในวัดเช่นนี้ก็เพื่อเฉลี่ยลาภผลแก่สงฆ์ผู้อยู่ในสีมาเดียวกันโดยทั่วถึง และการกระทำสังฆกรรมในวัดอาจทำได้ในมหาสีมา เช่น การบวชพระ แม้จะไม่กระทำในพระอุโบสถเหมือนวัดอื่น แต่กระทำในขอบเขตแห่งสีมาก็เป็นองค์พระได้

เรื่องราวที่ได้สัมผัสในวัดราชบพิธ

  • พลับพลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่คร่อมกำแพงวัด สามาถยืนชมอยู่ภายนอก หรือเข้าไปชมภายในวัดก็ได้ แต่ไม่สามารถเข้าชมภายในพลับพลา …พลับพลาเปลื้องเครื่อง สร้างไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้ากฐินโดยทางสถลมารค (ทางบก) ตามโบราณราชประเพณี จะทรงฉลองพระองค์ด้วยขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระราชยานมีพนักงานเจ้าหน้าที่หามมาเทียบที่เกยเสด็จขึ้นพลับพลาทรงเปลื้องเครื่องขัตติยาราชภูษิตาภรณ์เปลี่ยนฉลองพระองค์ใหม่ ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ

  • สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด ทางด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนอัษฎางค์

เรียนทำดอกไม้พุทธบูชาอบแห้ง (บุหงารำไป)

บุหงารำไป เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเพื่อสืบสานวัฒธนธรรม โดยการนำดอกไม้ที่ได้จากงานตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มาทำเป็นดอกไม้พุทธบูชาอบแห้ง (บุหงารำไป) เพื่อนำส่งต่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย … สอนโดย อ.ทัศพร พุ่มเจริญ

อธิบายอุปกรณ์อบเทียน … ทวนกับตะคัน

กิจกรรมในวันนี้ อาจารย์ผู้สอนได้อบแห้งดอกไม้มาให้เรียบร้อยแล้ว พวกเราเพียงนำมาใส่แพคเกจ ซึ่งมีเคล็ดลับว่า อย่าใส่ให้มากเกินไป เพราะถ้าอัดแน่น กลีบดอกไม้จะหักเป็นผง และไม่ควรใส่น้อยจนดูแบน ต้องจัดให้ดูนูนๆ พองาน ส่วนวิธีทำดอกไม้อบแห้งนั้น อาจารย์บอกว่า …

  • ให้นำดอกไม้ไทยที่บ้าน(ถ้ามี) หรือซื้อจากตลาด (ดอกไม้หอม) มาล้างน้ำเพื่อให้สารเคมีออกไปก่อน จากนั้นก็เด็ดใส่ไว้ในถาด นำไปตากแดด ประมาณ 3-4-5 แดด (หยิบมาดู ฟังเสียงจะกรอบๆ แสดงว่าแห้งแล้ว)
  • จากนั้น นำมาอบไว้ในหม้อ (อบเทียน) โดยนำเทียนตั้งบนทวนกับตะคัน หรือใช้ขัน ใช้เซรามิกก็ได้ ที่มีในนบ้าน …ต่อจากนั้นก็ปรุงให้มีกลิ่นหอม โดยใช้ใบเนียม หรือใบเตย ตัดเป็นชั้นเล็กผสมลงไป …เสร็จแล้วใส่พิมเสนที่บดละเอียดเล็กน้อย (เพื่อกันแมลงได้) คนให้เข้ากัน (พิมเสนอย่างดีจะมีกลิ่นหอม) …ถ้าอยากให้หอมมากขึ้น ก็ใส่น้ำหอมที่เราชอบลงไป อบไว้สัก 2-3 วัน ก่อนนำมาใส่แพคเกจตามแบบที่ต้องการ
  • อายุการใช้งานของบุหงารำไป จะอยู่ได้นานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่ถ้ากลิ่นหมด ให้ฉีดน้ำหอมเข้าไป ก็ใช้ได้เหมือนเดิม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ที่อยู่: 2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนในวันธรรมดาที่บอกเลยว่า สาระ ความรู้ ความสนุก ความสุข ที่ผ่านเข้ามาในห้วงแห่งความทรงจำ ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ …หากใครมีเวลา และโอกาส ลองแวะไปสัมผัสกลิ่นอาย ย่านเสาชิงช้า รับรองว่า ไม่ผิดหวัง ทั้งเรื่องอาหารคาวหวาน ศาสนสถาน เทวสถานสำคัญ อาคารเก่าแก่ที่หาดูได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน …ไปเที่ยวกันค่ะ

 


ขอขอบคุณ: ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร

แผ่นที่จากกูเกิล

 

คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อกว่า 26 ปี