คิดจะพัก-ได้รับคำแนะจากแพทย์ถึงอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ สาเหตุเกิดจากการขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม ปัญหาสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ความไม่พร้อมที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ ผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวควรได้รับการตรวจสุขภาพก่อนปฏิบัติงานเพื่อลดความเสี่ยงและลดอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิต
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อันตรายในขณะปฏิบัติงานในสถานที่ที่อับอากาศเป็นเรื่องที่เกิดเป็นข่าวคราวอยู่เป็นระยะๆ เช่น ข่าวการเสียชีวิตของผู้ที่ทำงานในหลุมใต้ดิน หรือ ผู้ที่ลงไปทำความสะอาดในไซโลเก็บผลผลิตพืชไร่ รวมถึงเพื่อนร่วมปฏิบัติที่ลงไปติดตามหาเพื่อนในสถานที่ดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ทราบว่า สถานเหล่านี้มีอันตรายจากการขาดอากาศหรือที่เรียกว่า “สถานที่อับอากาศ” เพื่อความปอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน สถานประกอบการจึงควรให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวได้รับการตรวจสุขภาพก่อนปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ที่อับอากาศหรือ confined space เป็นสถานที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด อาจมีทางเข้าทางเดียว มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ เช่น ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ถัง ไซโล ที่ขอับอากาศ คือ สถานที่ที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือมากกว่าร้อยละ 23.5 (โดยปริมาตร) หรือ มีก๊าซ ไอ หรือละอองที่ทำให้ติดไฟระเบิดได้เกินร้อยละ 10 ของค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดที่ทำให้ติดไฟหรือระเบิดได้ มีฝุ่นติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าความเข้มข้นขั้นต่ำสุดของฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ หรือมีค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานกำหนด จะสังเกตว่าเป็นสถานที่อับอากาศโดยเป็นสถานที่ซึ่งไม่ได้เข้าทำงานประจำ มีทางเข้าออกเล็กหรือไม่สะดวก ไม่มีการระบายอากาศ

คนงานที่ลงไปทำงานในที่อับอากาศส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเป็นที่อับอากาศ และเมื่อลงไปก็จะขาดออกซิเจนจากคาร์บอนได้ออกไซด์ที่มีจำนวนมาก หรือจากแก๊สที่มีเกินมาตรฐานในสถานที่นั้น เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีเทน นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากการที่สารเคมีที่มีอยู่ในนั้นอาจระเบิดขึ้นได้
ประเทศไทยได้มีกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องดำเนินการสำรวจพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนว่ามีพื้นที่ที่เข้าข่ายสถานที่อับอากาศหรือไม่ และต้องมีการเตรียมคนทำงานที่จะลงไปทำงานในสถานที่อับอากาศ นอกจากนี้แล้วยังตัองมีการเตรียมการช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น ชุดกู้ภัยที่มีออกซิเจน แต่ทั้งนี้อาจยังคงมีบางสถานประกอบการที่ไม่คิดว่าตนอยู่ภายใต้ข้อกำนดดังกล่าว อาทิ อุตสาหกรรมในครัวเรือน ห้องเก็บปลาในเรือประมง

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพผู้ทำงานในสถานที่อับอากาศ เพื่อให้แพทย์ทั่วประเทศที่ทำการตรวจสุขภาพผู้ที่จะไปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวจะได้มีมาตรฐานเดียวกันที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน